สมุนไพรต้านภัยโรค
พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านเรา สรรพคุณและคุณค่าของสมุนไพรอันเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าภูมิปัญญาโบราณก็เริ่มถูกบดบังไปเรื่อยๆ และถูกทอดทิ้งไปในที่สุด
กระดังงาไทย
สรรพคุณ :
ดอกแก่จัด - ใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลังทำให้ชุ่มชื่น ให้น้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ
ใบ, เนื้อไม้ - ต้มรับประทาน เป็นยาขับปัสสาวะพิการ
กะเพรา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 30-60 ซม. โคนต้นค่อนข้างแข็ง กะเพราแดงลำต้นสีแดงอมเขียว ส่วนกะเพราขาวลำต้นสีเขียวอมขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน รูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2.5-5 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียว มีขนสีขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบนมี 4 แฉก ปากล่างมี 1 แฉก ปากล่างยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรเพศผู้มี 4 อัน ผล เป็นผลแห้ง เมื่อแตกออกจะมีเมล็ด สีดำ รูปไข่
ส่วนที่ใช้ : ใบ และยอดกะเพราแดง ทั้งสดและแห้ง ทั้งต้น
สรรพคุณ :
แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ)
ใช้แก้อาการท้องอืดเฟ้อ แน่จุกเสียดและปวดท้อง
แก้ไอและขับเหงื่อ
ขับพยาธิ
ขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด
ลดไข้
เป็นยาอายุวัฒนะ
เป็นยารักษาหูด กลากเกลื้อน ต้านเชื้อรา
เป็นยาสมุนไพร ใช้ไล่ หรือฆ่ายุง
เป็นสมุนไพร ไล่แมลงวันทอง
พระจันทร์ครึ่งซีก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลำต้นขนาดเล็ก ตามข้อมีรากออก ลำต้นเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ชูส่วนยอดขึ้น มียางสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 0.2-0.6 ซม. ยาว 1-2 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบตัด ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตื้นเกือบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ก้านใบสั้นมาก ดอก ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วง มี 5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอดดอกแยกผ่าออก ทำให้กลีบดอกเรียงเพียงด้านเดียว หลอดดอกด้านนอกมีขนสีขาว ผล เป็นผลแห้ง แตกออกได้
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้นสด ขณะที่ดอกกำลังบาน
สรรพคุณ :
ลดไข้ แก้หอบหืด บำรุงปอด แก้อาเจียนเป็นเลือด วัณโรค ปอดพิการอักเสบ ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ บิด ขับปัสสาวะ (เพื่อลดอาการบวมจากไตอักเสบ) ท้องมาน (เนื่องจากพยาธิใบไม้ในเลือดและดีซ่าน) ยาแก้มะเร็ง กระเพาะอาหาร หรือที่ทวารหนัก แก้ข้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก บวมเจ็บ ฝี แผลเปื่อย บาดแผล กลากเกลื้อน ผื่นคัน และแก้คัดจมูก หรือโรคแพ้ เนื่องจากการใช้ยา เข้ารากย่อม
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในคนที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระหยาบเหลว (จีนเรียก ม้ามพร่อง)
กาหลง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือเกือบกลม กว้าง 9-13 ซม. ยาว 10-14 ซม. ปลายเว้าลงมาสู่เส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ ทำให้ปลายแฉกทั้ง 2 ข้างแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ เส้นใบออกจากโคนใบ 9-10 เส้น ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กละเอียด ก้านใบยาว 3-4 ซม. มีขนหูใบเรียวแหลม ยาวประมาณ 1 ซม. ร่วงง่าย มีแท่งรยางค์เล็กๆ อยู่ระหว่างหูใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้นๆ ออกตรงข้ามกับใบที่อยู่ตอนปลายกิ่ง มี 3-10 ดอก ก้านดอกยาว 0.5-1.5 ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก 2-3 ใบ รูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ดอกตูมรูปกระสวย ยาว 2.5-4 ซม. ดอกบาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันคล้ายกาบกว้าง 1-1.8 ซม. ยาว 2.5-4 ซม. ปลายเรียวแหลมและแยกเป็นพู่เส้นสั้นๆ 5 เส้น กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว รูปรีหรือรูปไข่กลับ มักมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายมน โคนสอบ กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 4-6 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูแต่ละอันยาวไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 1.5-2.5 ซม. อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว 3-5 มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. รับไข่รูปขอบขนาน ยาว 6-8 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-2 ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลม ฝักแบน คล้ายรูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 9-15 ซม. ปลายและโคนฝักสอบแหลม ปลายฝักมีติ่งแหลม ยาวประมาณ 8 มม. ขอบฝักเป็นสันหนา มี 5-10 เมล็ด เมล็ดเล็ก คล้ายรูปขอบขนาน
ส่วนที่ใช้ : ดอก
สรรพคุณ :
ดอก
- รับประทาน แก้ปวดศีรษะ
- ลดความดันของโลหิตที่ขึ้นสูง
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- แก้เสมหะพิการ
เพชรสังฆาต
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถา เถาอ่อนสีเขียวเป็นสี่เหลี่ยม เป็นข้อต่อกัน มีมือสำหรับเกาะยึดออกตางข้อต่อตรงข้ามใบ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อต้น รูปสามเหลี่ยม ปลายใบมน โคนใบเว้า ขอบใบหยักมนห่างๆ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ก้านใบยาว 2-3 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามข้อต้นตรงข้ามกับใบ ดอกสีเขียวอ่อน กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนด้านด้านนอกมีสีแดง ด้านในสีเขียวอ่อน เมื่อบานเต็มที่ดอกจะงองุ้มไปด้านล่าง เกสรเพศผู้มี 4 อัน ผล รูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว สุกสีแดงเข้มเกือบดำ เมล็ดกลม สีน้ำตาล มี 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ : น้ำจากต้น เถา ใบยอดอ่อน ราก
สรรพคุณ :
น้ำจากต้น - ใช้หยอดหู แก้น้ำหนวกไหล หยอดจมูกแก้เลือดเสียในสตรีประจำเดือนไม่ปรกติ เป็นยาธาตุเจริญอาหาร
ใบยอดอ่อน - รักษาโรคลำไส้เกี่ยวกับอาหารไม่ย่อย
ใบ ราก - เป็นยาพอก
เถา - ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก
ที่มา : http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_200.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น