ผ้าไหมสุรินทร์
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานานจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น่สนใจยิ่ง หากศึกษาอย่างลึกซึ่งแล้ว จะค้นพบเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่า จังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองในเรื่องผ้าไหม ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการทอ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายของผ้าไหม การผลิตเส้นไหมน้อย และกรรมวิธีการทอ
จังหวัดสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”) มาใช้ในการทอผ้า ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เรียบ นิ่ม เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย นอกจากนี้การทอผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ ยังมีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน และเป็นกรรมวิธีที่ยาก ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า มีการทอที่เดียวใบประเทศไทย จนเป็นที่สนพระทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า ใส่แล้วเย็นสบาย อีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้วย
ลักษณะเด่นของผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์
1. มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกัมพูชา และลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล
2. นิยมใช้ไหมน้อยในการทอ ซึ่งไหมน้อยคือไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหม มีลักษณะนุ่ม เรียบ เงางาม
3. นิยมใช้สีธรรมชาติในการทอ ทำให้มีสีไม่ฉูดฉาด มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะ คือ สีจะออกโทนสีขรึม เช่น น้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้
4. ฝีมือการทอ จะทอแน่นมีความละเอียดอ่อนในการทอและประณีต รู้จักผสมผสานลวดลายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปที่สวยงามกว่าปกติ
5. แต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวบ้านทำเพื่อไว้ใช้เอง และสวมใส่ในงานทำบุญและงานพิธีต่างๆ
ตัวอย่างผ้าไหม
1.ผ้าโฮล
ผ้าโฮล เป็นผ้าทอพื้นเมืองสุรินทร์ และเป็นราชินีแห่งผ้าไหมเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลานผ้าโฮลเป็นผ้าที่มีสีสันและลวดลายเด่น ลักษณะการทอจะเป็นจุดประสลับกับเส้นตรง ใช้ไหมคู่ 2 สีทอสลับกันเป็นลายตลอดไปทั้งผืน บางแห่งเรียกโฮลใบไผ่เนื่องจากมีลักษณะเป็นลายริ้วสลับกับลายมัดหมี่ ที่มีความกว้างประมาณครึ่งนิ้ว สลับกันไปดูคล้ายใบไผ่ ส่วนลายริ้วเปรียบเสมือนก้านใบไผ่เมื่อดูภาพรวมของลายผ้าจะคล้ายป่ามีปล่องช่องเขา มีลำธารน้ำ โฮลแดงเป็นการผสมผสานระหว่างลวดลายโบราณแต่มีการย้อมสีให้ออกสีแดงโดยใช้สีธรรมชาติในการมัดย้อม จึงเรียกว่า โฮลแดง นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในหมู่บ้านปราสาทเบงหมู่ที่ 14 ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
2.ผ้าไหมลายสมอ
ผ้าไหมลายสมอ ลักษณะการทอใช้เส้นไหมสีแดง สีดำ สีเหลือง และสีเขียว ทอเป็นผ้าลายตารางเล็ก ๆ มีสีของลายออกเป็นสีดำ สีเขียว และสีเหลืองเป็นเส้นยืนในลักษณะตารางสลับกัน จำนวน ๘ เส้น การทอเส้นพุ่งใช้ไหมสีเหมือนเส้นยืน จะทำให้ลายที่ทอออกมาปรากฏเป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ล้อมรอบด้วยกรอบสีเหลือง ผ้าลายนี้เป็นผ้าที่นิยมนุ่งกันมากในหมู่ผู้สูงอายุ สำหรับนุ่งอยู่บ้าน แหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอท่าตูม อำเภอเขวาสินรินทร์
3.ผ้าไหมลายสาคู
ผ้าลายสาคู มี ๒ ลักษณะคือ ลายสาคูใหญ่ และลายสาคูเล็ก ลายสาคูใหญ่ จะมีลักษณะการทอที่ใช้เส้นพุ่งตัดกันเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดครึ่งนิ้วคูณครึ่งนิ้ว ภายในกรอบตารางจะมีตารางเล็ก ๆ เรียงกันหลายสี ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีน้ำเงิน ส่วนกรอบตารางใหญ่เป็นสีน้ำเงินและสีขาว ในการทอจะใช้ไหมย้อมสีดังกล่าวในจำนวนเท่ากัน โดยออกแบบให้ไหมเส้นยืนและไหมเส้นพุ่งขนานกันเป็นคู่ ๆ ส่วนลายสาคูเล็ก จะมีขนาดเล็กกว่า แหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์คือ อำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอลำดวน
4.ผ้าไหมลายอันลูยซีม
ผ้าไหมลายอันลูยซีม ลักษณะการทอ เป็นผ้าทอมือโบราณที่ช่างทอจะทอสีตามความต้องการ ๔ เส้น แล้วใช้ไหมควบ ๒ เส้น ทำให้เกิดลายทางสลับสี หรือทำให้เกิดผ้าลายริ้วตามขวาง โดยใช้ไหมเพียงเส้นเดียว เช่นสีเขียว หรือสีม่วง ส่วนไหมเส้นพุ่งจะใช้ไหมสีเดียวกับเส้นยืนทอสลับกับไหมควบ ซึ่งเป็นการนำไหม ๒ เส้น ที่มีสีต่างกันมาตีเกลียวควบกันเป็น ๑ เส้น ได้แก่ สีแดงกับสีเหลือง สีแดงกับสีเขียว สีขาวกับสีม่วง การเลือกสีนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทอ ในการทอเป็นผืนจะใช้เพียง ๔ สี ทอสลับกันไปเป็นช่วง ๆ เท่า ๆ กัน จึงทำให้เกิดเป็นลายริ้วตามขอบของผืนผ้าตามความต้องการของผู้ทอ ในอดีตจะใช้เป็นผ้าม่วง สำหรับนุ่งโจงกระเบน แหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ และอำเภอศีขรภูมิ
5.ผ้าไหมลายตรวยสะแน้ค
ผ้าไหมลายตรวยสะแน้ค(ลายยอดถั่ว) ลักษณะการทอจะใช้เส้นไหมสีแดง สีดำ สีเหลือง สีเขียว ทำให้ได้ผ้าทอที่มีลายผ้าสีแดง สีดำ สีเหลืองและสีเขียว จำนวน ๑๔ เส้น การทอเส้นพุ่งใช้ไหมสีเหมือนกันกับไหมยืน จะทำให้ได้ผ้าที่ปรากฏเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีเขียวด้านในล้อมรอบด้วยกรอบสีดำและสีเหลือง แหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ อำเภอเขวาสินรินทร์ และอำเภอลำดวน
ที่มา:
http://qsds.go.th/qthaisilk_center/inside.phpcom_option=page&aid=993&sub=993&site=srn
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น